top of page
Suggested Read
Recent Posts
Follow Haupcar
Archive

คาร์แชริ่ง เซฟพลังงาน เซฟโลก โมเดล ‘haup’



คนไทยเราจำเป็นต้องใช้รถกันตลอดเวลาไหม? .. คงไม่ใช่ ดังนั้น “คาร์แชริ่ง” น่าจะเป็นทางเลือกที่ลงตัว ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้ใครหลายๆคนไม่จำเป็นต้องซื้อรถ ทั้งเป็นการเซฟพลังงานและช่วยโลกลดมลพิษได้อีกด้วย

จากไอเดียนี้ ธนวัฒน์ (เปอร์) และ กฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ (โบ้) สองพี่น้องเลยตัดสินใจพัฒนาแพลตฟอร์มคาร์แชริ่งที่ชื่อว่า “haup” (ฮ้อปคาร์)

แน่นอนว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกใหม่ เพราะคาร์แชริ่งมีบริการทั่วไปอยู่ในประเทศที่เจริญแล้ว พวกเขาทั้งสองคนซึ่งเดินทางไปร่ำเรียนที่ประเทศอเมริกาตั้งแต่ยังเด็กก็ได้เห็นและเคยทดลองใช้มาก่อน ตรงกันข้ามที่ประเทศไทย นั้นธุรกิจรูปแบบนี้ยังไปได้ไม่ถึงไหน

พวกเขาตกลงใจเปิดตัวฮ้อปคาร์ในเดือนสิงหาคมปี 2559 เพราะเชื่อว่าเป็นจังหวะเวลาที่ดี เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลไทยเร่งการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าหลายสายซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนซื้อรถส่วนตัวน้อยลง และคาร์แชริ่งก็จะมาเติมเต็มความต้องการในการเดินทางได้เป็นอย่างดี "ความเป็นจริง ธุรกิจของเราก็ยังอยากให้คนใช้รถอยู่ แต่ให้มาแบ่งกันใช้ โดยเราจะมีรถอยู่ในระบบที่ให้คนสามารถเข้ามาแชร์ มาแบ่งกันใช้ได้ เราต้องมีรถที่ดี มีบริการที่ดีให้กับลูกค้า เหมือนเป็นการสร้างคลับหรือคอมมูนิตี้หนึ่งขึ้นมาเพื่อให้คนมาแบ่งรถกันใช้ โดยต้องทำให้คนเข้าถึงบริการได้ง่าย มอบประสบการณ์ที่ดีๆให้เขา เพื่อที่จะทำให้รถบนท้องถนนมันหายไปบ้าง"

และต้องบอกว่ารถที่ให้บริการทั้งหมดที่มีในปัจจุบัน 10 คันล้วนเป็นของฮ้อปคาร์ทั้งสิ้น และทั้งหมดเป็น “อีโคคาร์” เพื่อให้สอดคล้องกับความตั้งใจที่อยากมุ่งเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน แถมอีโคคาร์ก็ยังเป็นรถที่อยู่ในความสนใจของลูกค้าอีกด้วย

เพราะลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในช่วงเริ่มต้นจะมีอยู่สามกลุ่ม ก็คือ 1.นักศึกษามหาวิทยาลัย 2.กลุ่มคนที่เพิ่งเรียนจบ กำลังจะเริ่มทำงาน 3. ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่หรือทำงานในเมืองไทย เริ่มจาก “บีทูซี” และในหมายเหตุจะโฟกัสกลุ่มนักศึกษาเป็นพิเศษ จากนั้นจะขยับไปสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจหรือ “บีทูบี”

"เราเริ่มเปิดบริการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตเป็นแห่งแรก เพราะส่วนตัวพวกเราก็เคยผ่านชีวิตตรงจุดนั้นมาก่อน รู้ว่าเด็กพอเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วก็อยากมีรถ เพราะการเดินทางลำบาก แต่พ่อแม่ก็อาจบอกว่าเดี๋ยวก่อนไม่ยอมซื้อให้ และที่มาเริ่มต้นที่เด็กก็เพราะเราอยากจะปลูกฝังพวกเขาว่าการซื้อรถนั้นไม่จำเป็น เพราะคาร์แชริ่งช่วยทำให้เขามีรถขับได้"

จากที่เปิดบริการมาเป็นเวลา 5-6 เดือน ปัจจุบัน ฮ้อปคาร์มีสมาชิกอยู่กว่า 300คน และชั่วโมงการใช้บริการของสมาชิกโดยเฉพาะเด็กมหาวิทยาลัยนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า ซึ่งเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานความเป็นไปได้ที่ชัดขึ้น

"พวกเรายังอยู่ในจุดเริ่ม อย่างน้อยเราต้องทำให้ครบปีถึงจะมีข้อมูลการใช้งานที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยก็มีบางช่วงที่เปิดเทอม ปิดเทอมด้วย เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาว่า ลูกค้ามาใช้บริการเป็นเพราะอะไร รวมถึงต้องหาทางปิดแก็บ โดยพยายามพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นสมาชิกในเรื่องของการใช้งานอยู่เรื่อยๆ คอยถามเขาว่าทำไมถึงใช้งานช่วงนี้ ไม่ใช้ช่วงนี้ เราต้องทำความเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร"

ที่พวกเขาพยายามเรียนรู้อย่างมากในเวลานี้เป็นเรื่องของกลยุทธ์การเลือกโลเคชั่น ซึ่งต้องมีการทดลองและอาศัยระยะเวลา คือถ้าหากเวิร์คก็ทำต่อ แต่ถ้าไม่ก็จะหยุดทำ ที่เทสต์ไปแล้วและผ่านฉลุยก็คือ ทำเลที่เป็นมหาวิทยาลัย ซึ่งนำมาซึ่งแผนที่ว่าฮ้อปคาร์จะขยายไปยังมหาวิทยาลัยที่อยู่ชานเมืองมากยิ่งขึ้น (นอกจากธรรมศาสตร์ รังสิต ยังเปิดบริการแล้วที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

"แต่เราก็คาดการณ์ผิดไปบ้างคือคิดว่าเด็กมหาวิทยาลัยน่าจะมาใช้บริการเยอะมาก เพราะส่วนใหญ่เขาไม่มีรถ แต่ที่ได้พบก็คือ เด็กไม่มีเงิน เขาได้เงินจากพ่อแม่เป็นรายเดือน ทำให้เวลาใช้บริการแต่ละทีเขาจะมากันเป็นกลุ่มอย่างน้อยก็ 3 คนเพื่อแชร์ค่าใช้จ่ายกัน ทำให้เราต้องกลับมาคิดค่าบริการใหม่เพื่อให้แฟร์กับพวกเขา เรื่องราคาเราคงจะปรับไปเรื่อยๆ แต่คงไม่บ่อยมากเดี๋ยวสมาชิกเราจะงง"

ยังมีปัญหาเหนือความคาดหมายอีกหลายเรื่อง เช่น การที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ชอบดูรายละเอียดการบริการด้วยตัวเอง ซึ่งมีอยู่ครบถ้วนบนออนไลน์ ทั้งในเว็บไซต์ หรือบนเฟสบุ๊ค แต่นิยมโทรศัพท์หรือไลน์มาถาม โดยปริยายพวกเขาทั้งสองคนก็ต้องทำหน้าที่เป็นคัสโตเมอร์เซอร์วิสคอยตอบคำถามด้วยตัวเอง

“เอาเข้าจริงลูกค้าอยากคุยกับเรา พวกเราเลยต้องรับโทรศัพท์หรือตอบไลน์กันเอง แต่เราก็อยากทำเพราะต้องการคอนแท็กกับลูกค้า มันเป็นการสร้างความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าให้กับเรา เพื่อที่จะนำเอาไปพัฒนาต่อ”

ลูกค้ามักจะถามข้อมูลเกี่ยวกับอะไร? พวกเขาบอกว่าที่ถูกถามเยอะที่สุดก็คือ ราคาและวิธีการใช้รถ แต่มีลูกค้าบางคนที่ไม่คุ้นชินกับการใช้แอพและอยากรู้วิธีซึ่งพอทำได้แล้วครั้งต่อไปเขาก็จะไม่ถามอีก

"แต่มีเรื่องเพย์เมนท์ ที่เรามองว่าแปลกมาก เพราะคิดมาตลอดว่าเด็กรุ่นใหม่น่าจะชินกับการจ่ายเงินออนไลน์ แต่ปรากฏว่าเด็กจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งสมัยเรียนอยู่ที่อเมริกาพวกผมแทบไม่ถือเงินสดเลยในกระเป๋ามีแต่บัตร แต่พอมาเมืองไทยเราใช้บัตรได้ยากมาก ร้านต่างๆมักจะรับแต่เงินสด มันเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของเรา แต่ถ้าเรามีการสอนลูกค้าทำในครั้งแรกได้ครั้งต่อไปก็จะไม่มีปัญหา แต่ลูกค้าก็อาจกังวลว่าถ้าเขาเอาบัตรเครดิตมาผูกกับระบบเราแล้วจะเซฟไหม เราก็ต้องทำให้เขามั่นใจด้วยการใช้ระบบของโอมิเซะ (Omise)"

อย่างไรก็ดี แม้จะมั่นใจโลเคชั่นมหาวิทยาลัย แต่พวกเขาก็ยอมรับว่ายังไม่ชัวร์กับทำเลที่ต้องการจะตอบโจทย์ลูกค้าวัยเริ่มทำงานรวมถึงคนต่างชาติ ที่เป็นจุดจอดในอาคารสำนักงาน รวมถึงคอนโดมีเนียมที่ตั้งอยู่กลางเมืองบริเวณซอยอารีย์, สี่แยกอโศก,ถนนสาทร ,ถนนสีลมและแถวสะพานกรุงธนฯ จำนวน 5 จุด และน่าจะต้องอาศัยเวลาอีกสามถึงสี่เดือนเพื่อดูว่าผลลัพธ์จะเวิร์คหรือไม่อย่างไร เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้แน่ชัดว่าควรจะทำต่อกับตลาดนี้ดีหรือไม่

นอกจากนี้ยังมองในเรื่องของเทคโนโลยีที่จะช่วยประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่แน่ว่า นอกจากอีโคคาร์แล้ว ในอนาคตอันใกล้ฮ้อปคาร์ก็อาจนำเอารถไฟฟ้ามาให้บริการด้วยก็เป็นได้ เพราะเมื่อเร็วๆนี้ บริษัทได้เข้าร่วมในโครงการศึกษาความเป็นไปได้ของรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบคาร์แชริ่งสำหรับประเทศไทยในอนาคต (Electric car sharing) ร่วมกับบีเอ็มดับเบิลยู ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ชไนเดอร์อีเล็คทริค (ไทยแลนด์)

"เราถือว่าเป็นรายแรกที่ทำคาร์แชริ่งในเมืองไทย ตอนนี้เราจึงพยายามจะเช็ทสแตนดาร์ดขึ้นมาก่อน แต่พวกเราเองเคยมีประสบการณ์ใช้บริการคาร์แชริ่งมาก่อน และได้ไปศึกษาอีกหลายๆแห่งว่าเขาทำกันอย่างไร จึงสามารถลดปริมาณรถลงได้ ที่เมืองนอกเขาพรูฟได้ว่ารถคาร์แชริ่งหนึ่งคันสามารถลดจำนวนรถในถนนลงได้ถึง 8-30 คัน ขึ้นอยู่กับสเกลของแต่ละเมือง ซึ่งเป็นอะไรที่เราอยากพรูฟและทำได้แบบเขาเหมือนกัน"

แน่นอนว่าต้องเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด แต่ก็มีความมั่นใจว่ามีสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำได้ดีก็คือ ที่ผ่านมาเมื่อได้เรียนรู้ว่าลูกค้ามีความต้องการอะไร พวกเขาพร้อมและปรับเปลี่ยนได้เร็ว เรียกว่าพร้อมจะเทคแอคชั่นทันที

ชีวิตดี๊ดีของคนไม่มีรถ

วันนี้คุณอยากไปไหน ไปดูหนัง รับเพื่อน ไปดูคอนเสิร์ต เที่ยวเดย์ทริป ไปเดทกับแฟน ไปประชุม ซื้อของซูเปอร์ฯ ไปนั่งร้านคาเฟ่เก๋ๆ ไปดูงานอาร์ต ไปหาหมอ ไปตลาดนัดสุดสัปดาห์ ไปทานมื้อดึกับเพื่อน หรือจะไปเตะบอล ฯลฯ ก็จะได้ไปแน่ๆด้วยรถของฮ้อปคาร์

คอนเซ็ปต์ของ “ฮ้อปคาร์” ก็คือให้ลูกค้าจ่ายเงินตามเวลาที่จองขับซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ 30 นาที ไปจนถึง 1 วัน เป็นรายชั่วโมง เริ่มต้นเพียง 49 บาทต่อครึ่งชั่วโมง + 5.5 บาทต่อกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นรายวัน เริ่มต้นเพียง 1,300 บาท ฟรี 100 กิโลเมตรแรกและจ่ายตามระยะทางที่ขับ ซึ่งราคาที่คิดจะรวมทั้งค่าน้ำมัน ประกัน การดูแลรักษา และที่จอดรถ จะเดินทางพรุ่งนี้ หรือ ต้องการใช้ตอนนี้ ลูกค้าสามารถจองรถก่อนใช้งานเป็นเวลา 15 นาที และการเดินทางด้วยฮ้อปคาร์ทำได้ง่ายๆ แค่ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. จองผ่านแอพ โดยเลือกจุดจอดที่อยู่ใกล้ และเลือกเวลาที่ต้องการใช้ และยืนยันการจอง 2.เข้ารถ ถึงเวลาเดินทาง เปิดปิดประตู ผ่านแอพ หรือใช้บัตรฮ้อปคาร์แตะไปที่รถ 3.ขับรถไปยังจุดหมายปลายทาง และนำรถกลับมาคืนตรงจุดจอดที่เดิม

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/735717


bottom of page